วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บุคคลในครอบครัว

การสร้างเสริมสัมพันธภาพกับบุคคลในครอบครัว
          
การได้อยู่ในครอบครัวที่มีความสัมพันธภาพอบอุ่นเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่คนทุกเพศทุกวัยและทุกฐานะ ปรารถนาและเป็นกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงสมบูรณ์
          
สมาชิกในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา หรือลูกก็ตามที่ได้อยู่ในครอบครัวอันอบอุ่นจะรู้สึกว่าอยากกลับบ้านเมื่อเลิกงานหรือเลิกเรียน อยากมีกิจกรรมกับคนที่บ้าน เช่น รับประทานอาหารเย็นร่วมกันเล่นกีฬาร่วมกัน มีข่าวร้ายข่าวดีอยากบอกคนที่บ้าน เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือร่วมดีอกดีใจด้วย


          
ส่วนครอบครัวที่มีสัมพันธภาพไม่ดีนั้นไม่มีใครอยากอยู่บ้าน ไม่มีใครอยากปฏิบัติกิจกรรมร่วมกับใครทุกคนไขว่คว้าหาความสุขนอกบ้าน จะกลับบ้านเมื่อจำเป็น เช่น เงินหมด หรือต้องการพักผ่อนนอนหลับเท่านั้น สัมพันธภาพในครอบครัวเริ่มต้นจากความรักความอบอุ่นของสามีภรรยาที่ดีต่อกัน เมื่อมีลูกสัมพันธภาพนั้นจะขยายไปสู่ลูก เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ซึ่งทุกคนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับประกอบกับมีความผูกพันทางสายเลือดของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ครอบครัวจึงเป็นแหล่งความรัก ความอบอุ่นที่สำคัญและยั่งยืนกว่าสัมพันธภาพใดๆ การสร้างเสริมสัมพันธภาพกับบุคคลในครอบครัวมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
        
1. ความผูกพันในครอบครัว สามีภรรยาต้องช่วยกับประคับประคองชีวิตครอบครัวให้ราบรื่นมั่นคงและช่วยกันเลี้ยงดูลูกด้วยความรักและเอาใจใส่ ในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกันใหม่ๆ ความผูกพันฉันสามีภรรยาและพ่อแม่ลูกที่เคยมีถูกตัดหายไป คนเหล่านี้จะรู้สึกขาดความรักความอบอุ่น ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยเฉพาะเด็กที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้จะรู้สึกว้าเหว่มาก ดังนั้นการที่จะสร้างเสริมสัมพันธภาพที่อบอุ่นในครอบครัวจึงจำเป็นต้องรักษาความผูกพันไว้เป็นอันดับแรก ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกนั้นเป็นความผูกพันที่แน่นแฟ้นด้วยการที่แม่เป็นผู้ให้กำเนิดและฟูมฟักดูแลจนลูกเจริญเติบโต ส่วนผู้เป็นพ่อนั้นมีความผูกพันการลูกด้วยการช่วยเลี้ยงดู ปกป้องคุ้มครองเป็นตัวอย่าง และชี้แนะแนวทางให้ลูกเดินในทางที่ถูกต้อง สำหรับผู้เป็นลูกนั้นก็ควรให้ความเคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนอบรมของพ่อแม่ และแสดงความรักต่อพ่อแม่โดยการขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน ประพฤติตนเป็นคนดี ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ไม่เกเร เสพสารเสพติด เล่นการพนัน รวมทั้งปฏิบัติกิจกรรมภายในยามว่างร่วมกับครอบครัว เช่น ออกกำลังกายร่วมกัน ไปเที่ยวนอกบ้านด้วยกัน นอกจากนี้ความผูกพันที่ครอบครัวไม่ควรละเลยอีกประการหนึ่ง คือ ความกตัญญูต่อปู่ย่าตายาย การให้ความรักเอาใจใส่ ตอบแทนพระคุณท่านที่ได้เลี้ยงดูแลเรามา

2.การเอาใจใส่ คือ การให้ความสนใจและสนับสนุนตามความต้องการอย่างเหมาะสม การเอาใจใสต้องมีความพอดี เช่น ลูกจะเรียนแล้วกลับบ้านกี่โมงก็ได้ไม่มีใครสนใจ จะทำให้ครอบครัวมีสภาพเหมือนต่างคนต่างอยู่ การเอาใจใส่มากเกินไปก็จะทำให้รำคาญ ไม่เป็นตัวของตัวเองนอกจากนี้การเอาใจใส่ต้องมีความเป็นธรรม ได้รับความสำคัญเท่าเทียมกันทุกคนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือลูกก็ตาม การเอาใจใส่ที่ควรระมัดระวัง คือ การใช้เงินทดแทนการเอาใจใส่ พ่อแม่ไม่มีเวลาก็ให้เงินลูกไว้ใช้เที่ยวเตร่หรือซื้อของตามที่ต้องการ เมื่อถึงวันเกิดก็ซื้อของมียี่ห้อราคาแพงให้เพื่อแสดงถึงความสนใจใส่ใจของพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความอบอุ่นแบบจอมปลอมและความเป็นนักวัตถุนิยมให้แก่ลูก
        
3.ความเข้าใจ คำนี้เป็นปัญหาสำหรับครอบครัวเสมอมา สามีภรรยาไม่เข้าใจกัน พ่อแม่ไม่เข้าใจลูกลูกไม่เข้าใจพ่อแม่ สิ่งที่ครอบครัวควรเข้าใจกันก็คือ ลักษณะนิสัยใจคอ ข้อดี ข้อบกพร่องของแต่ละคนเพื่อเป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันหรือปรับตัวเข้าหากัน เช่น พ่อชอบบ้านที่เงียบสงบแต่แม่ชอบบ่น พ่ออาจจะต้องพูดคุยกับแม่ถึงเรื่องหรือสาเหตุที่ทำให้แม่รำคาญใจ ส่วนพ่อก็ปรับปรุงแก้นิสัยของตนเองให้แม่เกิดความพอใจ เมื่อพ่อแก้ไขแล้วแม่ก็ควรลดหรือหยุดพฤติกรรมการบ่น    
        
4.การพูดจา เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างหรือทำลายสัมพันธภาพอันอบอุ่นในครอบครัว นอกจากการพูดจาสุภาพและให้เกียรติกันแล้ว สมาชิกในครอบครัวควรรู้จักการแสดงความรู้สึกที่ดีต่อกัน เช่น การแสดงความรัก คำชมเชย การให้กำลังใจ การปลอบใจ การพูดถึงข้อดีและข้อเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุง ส่วนเมื่อเกินความไม่พอใจหรือความขัดแย้ง ควรหาโอกาสพูดหรือสื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้เข้าใจถึงความรู้สึกเพื่อปรับความเข้าใจกัน และในครอบครัวจะไม่มีการพูดจาเกิดขึ้นเลยถ้าไม่มีการฟัง ดังนั้นนอกจากการพูดแล้วทุกคนควรยอมรับการรับฟังและความคิดเห็นของกันและกันด้วย  

สิ่งที่มักจะเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างสัมพันธภาพที่อบอุ่นในครอบครัว ได้แก่
   
      1.การอ้างว่าไม่มีเวลา  ต้องทำมาหากิน  แต่ถ้าเห็นสัมพันธภาพที่อบอุ่นของครอบครัวมีคุณค่าต่อจิตใจของทุกคนในครอบครัว  คำกล่าวอ้างนั้นอาจหายไปหรือลดน้อยลง
   
      2.การอ้างว่าให้แล้ว  เช่น  ให้เงินลูกแล้วอยากได้อะไรก็ไปซื้อเอาเอง  ให้เวลากับครอบครัวแล้วแต่เวลาที่ให้คือดูรายการโทรทัศน์ร่วมกัน

      3.การอ้างว่าจะทำให้เหลิง  คำนี้มักเป็นคำอ้างของพ่อที่ไม่อยากแสดงท่าทางให้ลูกรู้ว่าพ่อรักลูก  ทำให้ลูกกลัวไม่กล้าใกล้ชิดพ่อ  ซึ่งบางครั้งกว่าจะถึงเวลาที่พ่อบอกว่ารักลูกก็สายเกินไปเสียแล้ว  ความรักความอบอุ่นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ  ดังนั้นต้องช่วยกันสร้างสัมพันธภาพที่อบอุ่นเพื่อความสุขของทุกๆคนในครอบครัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น